เมื่อฉันมีแมวเป็นไลฟ์โค้ช

พวกเราไปเที่ยวอยุธยาบ้านน้องปลื้มกันเป็นรอบที่สอง คราวนี้ไปนอนค้างหนึ่งคืน ทำให้ได้ใช้ชีวิตกับแมวสองตัวในบ้านนานขึ้นกว่าเดิม เลยมีเรื่องราวอะไรให้คิดได้เยอะแยะเลยครับ

Things changed

เค้าว่ากันว่า ถ้าแม่แมวไม่เจอลูกซักสองสามวัน เค้าก็จำไม่ได้ละว่านี้เป็นลูกแมวของตัวเองนะ หรือถ้าลองไม่ให้อาหารแมวที่เลี้ยงไว้ซักสองสามวัน เค้าก็จะเลิกสนใจคุณแล้วไปหาอาหารที่อื่นกินครับ พอรู้แบบนี้แล้ว ก็เลยไม่แปลกใจที่ตอนแวะมาหาน้องโชยุ 🐈‍⬛ เมื่อเดือนก่อน น้องยังเล่นด้วยสนุกสนาน แต่พอมาเจอหน้ากันวันนี้ นอกจากน้องจะไม่เล่นด้วยแล้ว น้องยังกลัวจนหนีไปหลบอยู่ใต้เตียงทั้งวันไม่ยอมออกมาเลยล่ะครับ นอกจากจะหิวออกมากินข้าวกินน้ำเป็นพักๆ

เอาจริงๆแล้วไม่ใช่แค่แมวหรอกครับ ทุกอย่างเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว น้องโชยุในวันนี้ ก็ไม่ใช่น้องโชยุเมื่อเดือนก่อน น้องเติบโตขึ้น มีประสบการณ์ต่างๆมากขึ้น ไม่แปลกเลยที่พฤติกรรมของน้องจะเปลี่ยนไปครับ คนเราก็เช่นกัน จริงๆแล้วคนเราก็ล้วนเปลี่ยนไปตลอดเวลาเหมือนกันนะครับ ถ้าเอาตามหลักชีววิทยา เราเป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ มีเซลล์เก่าที่ตายไป และมีเซลล์ใหม่เกิดขึ้นมาใหม่ตลอดเวลา ดังนั้นตัวเราตอนหายใจเข้า พอหายใจออกก็เป็นคนละคนกันแล้ว หรือถ้าเอาตามหลักพุทธ ก็คือ ชาติ ชรา มรณะ เกิดดับหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ชาติหน้ามีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ตัวกู ของกู” ที่เราต้องไปยึดถือหรอกครับ

Accept what you cannot control

ส่วนพี่ยูซุ 🐈 คนนี้ไม่เปลี่ยนไปเท่าไหร่ครับ ยังคงหวงเนื้อหวงตัวเหมือนเดิม พร้อมตบและฝังเขี้ยวตลอดเวลา และเนื่องจากวันนี้ทำยังงัยน้องโชยุก็ไม่ยอมออกมาจากใต้เตียง ก็เลยต้องเปลี่ยนมาเล่นกับพี่ยูซุแทน แต่จะเล่นด้วยยังงัยไม่ให้ได้แผลล่ะ? งั้นเรามาสนิทกันเถอะพี่ยูซุ! แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้นน่ะสิครับ เราเลือกที่จะสนิทกับแมวได้ แต่เป็นแมวครับที่จะเป็นคนตัดสินใจ ว่าเค้าจะยอมสนิทกับคุณมั้ย ซึ่งพี่ยูซุก็ไม่ยอมง่ายๆครับ เข้าไปใกล้ๆทีไรก็เดินหนีตลอด และอย่าคิดแม้แต่จะจับเลยครับ ได้เลือดแน่นอน 😂

เราคงไม่ไปงอนแมวหรอกจริงไหมครับ ว่าเป็นอะไรของเค้านะ ทำไมเราอยากเล่นด้วยเค้าไม่เล่นด้วย เพราะว่าเราเข้าใจครับว่ามันเป็นสิทธิของเค้า ไม่ใช่ของเราเลยครับ คนเราก็เหมือนกันครับ เราหยิบยื่นความรัก ความปราถนาดีให้กับคนอื่นได้ แต่อย่าได้ไปเผลอคิดว่าเราจะได้สิ่งเดียวกันตอบกลับมาจากเค้าเลยนะครับ เพราะมันเป็นเรื่องของเค้า ไม่ใช่เรื่องของเราครับ

Keep the distance

ถ้าใครเคยอ่าน เจ้าชายน้อย อาจจะพอจำได้ว่า มีอยู่ตอนหนึ่งที่คุณสุนัขจิ้งจอกขอให้เจ้าชายน้อยทำให้เค้าเชื่องครับ คุณสุนัขจิ้งจอกบอกเจ้าชายน้อยว่า:

“เธอจะต้องมีความอดทน” สุนัขจิ้งจอกตอบ “เธอจะต้องนั่งห่างจากฉันหน่อยในตอนแรก อย่างนั้นแหละ นั่งบนหญ้า ฉันจะชายตามองดูเธอ จากนั้นเธอก็อย่าพูดอะไรเลยนะ เพราะภาษาคือที่มาของความเข้าใจผิด และเธอค่อยๆเขยิบเข้ามาใกล้ๆ ฉันมากขึ้นทีละน้อย”

The Little Prince

วิธีเดียวกันนี้ก็ใช้กับแมวได้เหมือนกันครับ การเข้าไปใกล้หมายถึงความไม่ปลอดภัย เพราะเราอาจจะทำอันตรายกับเค้าได้ ดังนั้นที่เค้าเดินหนี ก็เพราะเค้าอยากเว้นระยะห่างกับคุณเพื่อความปลอดภัยครับ วิธีการนี้ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายครับ ต้องใช้ความอดทนมากๆ เหมือนกับที่คุณสุนัขจิ้งจอกบอกเลย เพราะพอเข้าไปนั่งใกล้ๆทีแรก น้องก็จะเดินหนีทันที ต้องใช้วิธีไปนั่งข้างๆแบบไม่สนใจ นั่งเฉยๆเลยครับ ให้น้องคุ้นเคยว่า การมีเราอยู่ในระยะนี้ ไม่ได้เป็นอันตรายนะ

คนเราก็เหมือนกันครับ ทุกคนมี “ระยะปลอดภัย” ของตัวเอง ทั้งทางกายและทางใจ อย่าเผลอข้ามเส้นนั้นเข้าไปเชียวครับ เช่น ในความสัมพันธ์ ถึงแม้คนเราจะรักกันแค่ไหน แต่ทุกคนก็ล้วนมีช่วงเวลาที่ต้องการพื้นที่ส่วนตัวครับ หรือตัวอย่างง่ายๆให้เห็นภาพก็เช่น ในห้องน้ำชาย ถ้ามีโถปัสสาวะ 3 อัน แล้วมีคนเข้าพร้อมกัน 2 คน เค้าจะไม่ใช้อันตรงกลางกันนะครับ 😂

Vulnerability

ใช้เวลานั่งเฉยๆกับพี่ยูซุอยู่วันนึงเลยครับ วันรุ่งขึ้นพี่เค้าถึงจะยอมเล่นด้วยบ้าง เข้ามาเอาหัวไถเราด้วยตัวเอง (หรือพี่เค้าอาจจะแค่คันหัว?) แต่ถ้าว่ากันตามตำรา สัญญาณที่บอกว่าแมวกำลังสบายใจและรู้สึกปลอดภัย ก็คือเค้าจะนอนหงายท้องครับ เพราะว่าท้องเป็นจุดเปราะบางที่อาจจะเป็นอันตรายได้ง่ายครับ เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่า I trust you.

ในความสัมพันธ์ของคนเราก็เหมือนกันครับ เค้าว่ากันว่าถ้าอยากสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับใครซักคน ให้ลองกล้าที่จะเปิดเผยจุดอ่อนของตัวเองให้เค้ารู้ครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เราทำพลาด หรือความไม่สมบูรณ์แบบต่างๆ เพราะการพูดคุยเรื่องเหล่านี้ จะช่วยให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเราต่างก็เป็นคนธรรมดาทั่วไปเหมือนกันนี่แหละครับ ไม่มีเจ้านายลูกน้อง ไม่มีฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ ไม่มีพวกเธอพวกฉัน

ใครสนใจเรื่องนี้ ไปลองฟัง TED Talk อันนี้ ดูต่อได้ครับ

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนคนนี้จะเหมาะกับทีมเรา

เมื่อวานน้องข้าวตังค์ ถามคำถามนี้ขึ้นมาตอนพวกเรากำลังขับรถกลับจากการไปเที่ยวบ้านน้องปลื้ม ที่อยุธยากัน เราแวะไปเล่นกับน้องโชยุ 🐈‍⬛ ลูกแมวของน้องปลื้ม ซึ่งอยู่ในวัยกำลังซน เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับหัวข้อที่จะเขียนแต่อย่างใด แต่แค่อยากแชร์ความน่ารักของน้องโชยุเฉยๆ 🥰

กลับมาที่คำถามกันดีกว่า รู้สึกว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจเลยกลับมานั่งคิดต่อ 🤔 เพราะโดยส่วนตัวยังคงมีความเชื่อ (bias) ว่าเราไม่สามารถรู้จักคนๆหนึ่งได้ดีพอที่จะตัดสินอะไรเค้าได้ เพียงแค่จากการเจอหน้าพูดคุยกันแค่ครั้งสองครั้ง บางคนเป็นเพื่อนรักกันมานานหลายปี ก็ยังสามารถหักหลังกันได้ แบบเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด ส่วนตัวจึงไม่เชื่อว่าการ interview เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน แต่ว่ามันยังคงเป็นวิธีที่ถูกใช้กันทั่วไปในโลกปัจุบัน ซึ่งถ้าสุดท้ายก็ยังคงต้องใช้การ interview แล้วเราจะตัดสินใจยังงัยดีนะ ก็คงต้องกลับมาถามตัวเอง หรือทีม หรือบริษัท ก่อนว่า ปัญหาคืออะไร ทำไมเราถึงต้องการคน แล้วเราจะให้เค้ามาทำอะไร

Hiring strategy ของเราคืออะไร

เรื่องนี้เป็นคำถามที่เคยได้เห็นพี่อัมมาร์ พิมพ์ถามใน sli.do ของบริษัท session หนึ่งแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจจนจำได้มาถึงทุกวันนี้ พี่อัมมาร์ถาม leadership team ของเราว่า ตกลงแล้วตอนนี้บริษัทของเรายัง hiring for a career อยู่ หรือว่าเราควรจะ hiring for a job กันนะ เพราะว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว เค้าว่ากันว่าเด็กรุ่นใหม่มักจะไม่ทำงานที่เดียวไปจนเกษียณ แต่ชอบที่จะย้ายที่ทำงานไปเรื่อยๆมากกว่า

ผมไม่มีโอกาสได้ฟังคำตอบ หรือแย่ไปกว่านั้นผมอาจจะเข้าใจคำถามพี่อัมมาร์ผิดก็ได้ 😂 แต่ความเข้าใจของผมก็คือ การที่เรา hiring for a job หมายถึง เรามีตำแหน่งงานที่ต้องการ skills ที่ชัดเจนที่ต้องการคนที่มีความสามารถด้านนั้นจริงๆมาช่วยทำงานนั้นให้สำเร็จเป็นงานๆไป ไม่ได้คาดหวังว่าพนักงานคนนั้นจะอยู่กับเราไปนานๆ ส่วนการที่เรา hiring for a career นั้น หมายถึง เราคาดหวังว่าพนักงานคนนั้นจะอยู่กับเราไปจนเกษียณ ซึ่งเราคงไม่ได้อยากให้เค้าทำงานเดิมๆไปตลอด ไม่งั้นคงเบื่อแย่ แต่เราคงอยากให้เค้า promote หรือ rotate ไปทำงานอื่นๆในอนาคต

ส่วนตัวยังคิดว่า ถ้าเราเจอที่ทำงานที่ใช่ และที่ทำงานก็คิดว่าเราคือคนที่ใช่ การอยู่ด้วยกันไปนานๆก็ดูเป็น win-win solution กันทั้งสองฝ่าย เลยค่อนข้างเห็นด้วยกับการ hiring for a career มากกว่า ซึ่งถ้าเราเลือกมาทางนี้แล้ว สิ่งที่ต้องมองหาก็คือ potentials ของเค้าในระยะยาว เช่น

  1. ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น – เพราะเราต้องอยู่ด้วยกันไปอีกนาน
  2. ความสามารถในการเรียนรู้ – เพราะเค้าจะไม่ได้ทำงานเดิมตลอดไป แต่ต้องเติบโตหรือเปลี่ยนสายงาน
  3. ความสามารถในการปรับตัว – เพราะเค้าจะไม่ได้ทำงานกับคนกลุ่มเดิมตลอดไป
  4. เราจะสามารถช่วยพัฒนาเค้าได้ไหม และได้ไกลแค่ไหน

Assume ก่อนว่า candidate คนนี้ผ่าน

เรื่องนี้เป็นคำแนะนำที่ได้มาจากชาร์ป อดีตหัวหน้างานของผมเอง ตอนสมัยเข้าทำงานใหม่ๆ ชาร์ปช่วยสอน Interview 101 ให้ ชาร์ปเล่าว่าถ้าเราสัมภาษณ์ candidate เพื่อที่จะ confirm ว่าคนนี้คือคนที่ใช่ มันมักจะยาก เพราะเรามักจะคาดหวังให้เค้าตอบคำถามตรงตามที่เราอยากได้ยิน ซึ่งมันจะไม่ค่อยแฟร์ และ bias ได้ง่าย ชาร์ปเลยแนะนำว่า ให้เราสัมภาษณ์ candidate เพื่อที่จะ confirm ว่าคนนี้คือคนที่ไม่ใช่ น่าจะดีกว่า โดยเราจะ assume ก่อนเลยว่า candidate คนนี้จะผ่านการสัมภาษณ์ แล้วค่อยๆ validate หาสิ่งที่คิดว่าไม่ใช่

ผมชอบไอเดียนี้มาก เพราะผมคิดว่าเราทุกคนล้วนมีเวลาบนโลกนี้อยู่อย่างจำกัด ดังนั้นการที่คนคนหนึ่ง สละเวลา 1-2 ชั่วโมงมานั่งคุยกับเรา นั้นถือเป็นเรื่องใหญ่มากๆ การที่เราใช้วิธีคิดแบบนี้ ก็ถือว่าเป็นการให้เกียรติ candidate ด้วยอย่างหนึ่งไปในตัวครับ